ภาพนี้บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ “High Resolution Coronal Imager” หรือ “Hi-C” เป็นกล้องที่ติดตั้งอยู่บนจรวดประเภท “suborbital-flight” กล่าวคือ เป็นจรวดที่ส่งขึ้นไปในอวกาศแล้วตกกลับมายังโลก ซึ่ง Hi-C สามารถถ่ายภาพดวงอาทิตย์ที่เห็นรายละเอียดสูงถึงระดับ 70 กิโลเมตร หรือประมาณ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของขนาดดวงอาทิตย์ นับเป็นภาพถ่ายชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่มีความละเอียดสูงสุดเท่าที่เคยมีมา

as20201105 2 01

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์จากกล้องโทรทรรศน์ High-Resolution Coronal Imager (Hi-C)

 

งานวิจัยในครั้งนี้มุ่งความสนใจไปที่กระแสพลาสมาที่วางตัวไปตามเส้นสนามแม่เหล็กในชั้นบรรยากาศ ภาพจากกล้องโทรทรรศน์แสดงให้เห็นเส้นกระแสพลาสมาหลากหลายขนาด โดยทั่วไปมีความกว้างประมาณ 500 กิโลเมตร

นับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ด้วยความละเอียดสูงได้ ช่วยให้เข้าใจอัตราการถ่ายเทพลังงานที่ชั้นต่าง ๆ ของดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น

การศึกษาครั้งนี้เป็นการส่งกล้องโทรทรรศน์ Hi-C ขึ้นไปสู่อวกาศเป็นครั้งที่สาม และมีแผนจะส่งขึ้นไปอีกในอนาคต “ปาร์กเกอร์โซลาร์โพรบ (Parker Solar Probe)” และข้อมูลจากยานสำรวจดวงอาทิตย์ของยุโรป “SolO (Solar Orbiter)” เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์

ถึงแม้ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมดว่าทำไมชั้นโคโรนามีอุณหภูมิสูงถึงล้านองศาเซลเซียสในขณะที่พื้นผิวส่วนอื่นของดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิ 5,500 องศาเซลเซียส ทีมวิจัยหวังว่าภาพจากกล้องโทรทรรศน์ Hi-C และจากภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์อื่น ๆ ในอนาคตจะมากเพียงพอที่จะช่วยไขปัญหานี้ได้ทั้งหมด

 

อ้างอิง :

[1] https://iopscience.iop.org/article/10.3847/1538-4357/ab6dcf

[2] https://www.uclan.ac.uk/news/new-images-reveal-fine-threads-of-million-degree-plasma.php

 

เรียบเรียง : นางสาวศวัสกมล ปิจดี - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.