ถ่ายภาพดาราศาสตร์อย่างไร… ให้ชนะใจกรรมการ

คอลัมน์นี้ขอนำเสนอมุมมองและเกณฑ์ในการตัดสินภาพถ่ายดาราศาสตร์ เพื่อที่ปีถัดๆไป นักถ่ายภาพจะได้นำเอาไปปรับใช้กับการถ่ายภาพเพื่อให้ชนะใจกรรมการกันครับ โดยคณะกรรมการตัดสินภาพถ่ายประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ นักถ่ายภาพดาราศาสตร์ระดับแนวหน้าของเมืองไทย นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศโลก เป็นต้น ในการพิจารณาคณะกรรมการแต่ละท่านต่างก็จะมีมุมมองในด้านต่างๆ และนำเอาผลการพิจารณามารวมกันออกมาเป็นคะแนนของภาพถ่ายแต่ละภาพนั่นเองครับ

001

 

          ในการจัดประกวดภาพถ่ายครั้งนี้ ถือเป็นปีที่ 13 มีจำนวนภาพถ่ายส่งเข้ามาร่วมประกวดมากถึง 851 ภาพ โดยแต่ละภาพก็ล้วนแต่เป็นภาพที่สวยงามและมีคุณภาพ ซึ่งคณะกรรมการต้องใช้เวลาในการพิจารณาคัดเลือกภาพกันเป็นเวลานานมาก กว่าจะได้มาแต่ละภาพ ต้องโหวตคะแนนแต่ละด้านของภาพถ่ายเพื่อให้ได้ภาพที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์มากที่สุด

          จากภาพถ่ายดาราศาสตร์ทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วย วัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก ผมจะขอสรุปเกี่ยวกับการพิจารณาในแต่ละด้านของภาพถ่ายจะต้องประกอบคุณลักษณะต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการถ่ายภาพในปีต่อไป ดังนี้

  1. ความสวยงามของภาพ เช่น ความสวยงามของภาพ วัตถุท้องฟ้า สีสันของภาพถ่าย ความโดดเด่นของภาพถ่าย
  2. องค์ประกอบภาพ เช่น การจัดวางตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า หรือภาพปรากฏการณ์ เพื่อให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจที่สุด
  3. รายละเอียดของภาพ เช่น รายละเอียดของฝุ่นแก๊สของวัตถุท้องฟ้า หรือรายละเอียดต่างๆ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพอันยาวนาน รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ของปรากฏการที่สามารถ่ายภาพมาได้อย่างครบถ้วน
  4. คุณภาพของภาพถ่าย เช่น ภาพมีความคมชัดสูง ภาพไม่แตก ไม่เกิดการเหลื่อมสีของภาพ และมีขนาดภาพที่ใหญ่พอจะสามารถนำไปใช้ขยายภาพได้
  5. การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ เช่น เป็นภาพที่สามารถนำไปใช้ในการบรรยายหรืออธิบายปรากฏการณ์สื่อสารทางวิทยาศาสตร์ได้
  6. ความแปลกใหม่ เช่น ภาพปรากฏการณ์ใหม่ๆ ภาพวัตถุท้องฟ้าที่ยังไม่เคยมีใครส่งประกวด หรือภาพวัตถุท้องฟ้าที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่แปลกใหม่แต่มีความถูกต้องตามหลักการทางดาราศาสตร์ ดังนั้น ภาพบางภาพที่เคยมีผู้ส่งประกวดและได้รางวัลในปีก่อนๆ ก็อาจทำให้ได้คะแนนสู้ภาพที่ยังไม่เคยมีใครถ่ายภาพมาก่อนได้เช่นกัน
  7. ความยากง่ายในการถ่ายภาพ เช่น วัตถุที่ถ่ายได้ยากก็อาจทำให้ได้คะแนนมากขึ้น หรือปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ ที่ยากต่อการถ่ายภาพ
  8. เทคนิคการประมวลผลภาพถ่าย เช่น การจัดการสัญญาณรบกวน (Noise) ได้ดีมากน้อยแค่ไหน หรือการโปรเซสภาพที่ดีเหมาะสม ไม่ดึงรายละเอียดมากจนทำให้คุณภาพลดลง

 

ตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ละประเภท 

ประเภท Deep Sky Object

002

ชื่อภาพ : NGC 3521 Spiral Galaxy / ผู้ถ่าย : Michael Selby

วันที่ถ่ายภาพ : 26 มีนาคม 2563 / สถานที่ : Obstech, Chile

อุปกรณ์ถ่ายภาพ : Officina Stellare RiDK 500

เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : L 12 hours 900s exp, RGB 5 hours each 600 s bin 2, Ha 6 hours 1200s exp

ความยาวโฟกัส : 3500mm / ขนาดรูรับแสง : F7 / ความไวแสง : -

เทคนิคการถ่ายภาพ : Guided system, processing Pixinsight, Ha blended to RGB

 

ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

003

ชื่อภาพ : ความงามที่ลงตัว / ผู้ถ่าย : นายทศพร สหกูล

วันที่ถ่ายภาพ : 26 ธันวาคม 2562 / เวลา : 11.58 น. / สถานที่ : วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

อุปกรณ์ถ่ายภาพ : ดิจิตอล DSLR

เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 1/80 / ความยาวโฟกัส : 15 mm / ขนาดรูรับแสง : F7.1 / ความไวแสง: 100

เทคนิคการถ่ายภาพ : เลือกใช้เลนส์ ฟิชอายเพื่อให้ได้พื้นที่ครอบคลุมโบราณสถาน และเงาของพระอาทิตย์ที่เกิดสุริยุปราคา

 

ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ

004
ชื่อภาพ : C/2020 F3 (NEOWISE) / ผู้ถ่าย : วชิระ โธมัส
วันที่ถ่ายภาพ : 24 ก.ค. 63 / เวลา : 20.00น / สถานที่ถ่ายภาพ : อ.สูงเม่น จ.แพร่
อุปกรณ์ถ่ายภาพ : กล้องดิจิตอล Nikon D750
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 60วินาที x 45 ภาพ - เวลารวม 45นาที / ความยาวโฟกัส : 250 มม.

ขนาดรูรับแสง : F4.9 / ความไวแสง : 800
เทคนิคการถ่ายภาพ
1. หาตำแหน่ง พื้นที่ ที่มีความืดมากๆ เพื่อให้สามารถจับแสงภาพดาวหางและส่วนประกอบได้ชัด
2. ตั้งกล้องบนบอร์เตอร์ตามดาว เพื่อให้สามารถเปิดหน้ากล้องได้นานและเก็บสัญญาณภาพมาให้ได้ชัด
3. สามารถถ่ายมาได้ 45นาที ก่อนที่ดาวหางจะตกลับขอบฟ้า
4. รวมภาพที่ได้มาด้วยโปรแกรม Deep Sky Stacker
5. ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop

 

ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์

005

ชื่อภาพ : แสงดาว ที่เสาดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ตาพระยา ไทยแลนด์ / ผู้ถ่าย : นายวรวิทย์ จุลศิลป์

วันที่ถ่ายภาพ : 24 กุมภาพันธ์ 2563 / เวลา : 18.47 - 03.16 น. / สถานที่ถ่ายภาพ : ละลุ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

อุปกรณ์ถ่ายภาพ : Camera Canon EOS R, Lens Canon 16-35 F2.8L II

เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 30 วินาที จำนวน 962 ใบ 8 ชั่วโมง 29 นาที / ความยาวโฟกัส : 16mm

ขนาดรูรับแสง : F3.2 / ความไวแสง : 400

เทคนิคการถ่ายภาพ : ใช้แอป SkySafari หาตําแหน่งของดาวเหนือ ใช้เลนส์มุมกว้างตั้งกล้องไปใกล้ๆกับเสาดิน เริ่มถ่าย เวลา 18.47 เพื่อเก็บแสงฉากหน้า และถ่ายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยตั้ง Interval 1วินาที ขั้นตอน Process ตรวจลบเส้นแสงไฟจากเครื่องบิน เพื่อให้ภาพมีแต่เส้นแสงดาวอย่างเดียว ต่อมารวมแสงดาวทั้งหมด 962 ใบ แล้วใช้เทคนิค Luminosity Mask เลือกฉากหน้าใบแรก ทั้งหมดทำในโปรแกรม Photoshop

 

ประเภทปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

006

ชื่อภาพ : Blue Jet / ผู้ถ่าย : นายสุภฉัตร วรงค์สุรัติ

วันที่ถ่ายภาพ : 5 กันยายน 2562 / สถานที่ถ่ายภาพ : บนห้องนักบิน เหนืออ่าวเบงกอล เวลาประมาณตี 2

อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : กล้อง Digital Sony A9

เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ : 2sec / ความยาวโฟกัส : 24mm fix / ขนาดรูรับแสง : f1.4 / ความไวแสง : 2000

เทคนิคการถ่ายภาพ : Manual focus at infinity วางกล้องไว้กับ console เครื่องบิน ใช้ mode continues shooting เพื่อเก็บภาพตอน cell active ครับ แสงของ Bluejet พุ่งออกมาไม่น่าจะถึง 1 วินาที แต่พุ่งขึ้นมาสูงและมีความแรงจนสามารถเห็นได้ไกลมาก ระยะที่ผมเห็นตอนแรกคือประมาณ 60 nm.

 

          จากทั้ง 8 เกณฑ์การพิจารณานี้ ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการคัดเลือกภาพถ่ายดาราศาสตร์ ซึ่งหากดูจากเทคนิคของการถ่ายภาพแต่ละคนแล้ว ต้องบอกว่าผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศนั้นล้วนแล้วแต่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพ วัตถุท้องฟ้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเทคนิคการถ่ายภาพและประมวลผลภาพ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายออกมาได้อย่างสวยงามและมีคุณภาพ

          นอกจากนั้นในปีนี้ก็เป็นที่น่าดีใจที่มีนักถ่ายภาพดาราศาสตร์สมัครเล่นหน้าใหม่น่าจับตาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด ผลงานมีความโดดเด่น การใช้เทคนิคที่หลากหลาย รวมทั้งความพยายามและอดทนในการถ่ายภาพ ซึ่งแต่ละภาพต้องอาศัยทักษะความรู้ทั้งด้านการถ่ายภาพ เทคนิคการประมวลผลภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านดาราศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่าง ๆ อีกด้วย